An importance of LibreOffice Calc in Logistics Management: Beginning

ปฐมพงศ์ สุทธิพงษ์ประชา

          การกำหนดต้นทุนโลจิสติกส์มีจุดเริ่มต้นจากการนำแนวคิดด้านการตลาดที่กล่าวว่า “ความสำเร็จขององค์กรขึ้นอยู่กับการประเมินความจำเป็น  และความต้องการของตลาดเป้าหมาย  รวมทั้งส่งมอบความพึงพอใจเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เหนือคู่แข่ง” มาใช้กับหลายองค์กร จนทำให้องค์กรเหล่านั้น สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างโดดเด่น ซึ่งการตอบสนองที่เกิดขึ้นดังกล่าวก่อให้เกิดความหลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับลักษณะของผลิตภัณฑ์และการบริการ  ส่งผลให้ต้นทุนในการตอบสนองลูกค้า (Cost to Serve) แตกต่างกันไปด้วย 

    ต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์สามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 4 ประเภท ดังนี้
           1) ต้นทุนการขนส่ง (Transportation Cost) ต้นทุนที่เกิดจากกิจกรรมการขนส่งและบริการซึ่งต้นทุนเหล่านี้ยังผันแปรไปตามปริมาณการขนส่ง น้ำหนัก ระยะทาง จุดหมายปลายทาง รวมไปถึงวิธีการขนส่งที่ก่อให้เกิดต้นทุนที่แตกต่างกัน
            2) ต้นทุนคลังสินค้า (Warehousing Costs) ต้นทุนที่เกิดจากกิจกรรมภายในคลังสินค้าและการจัดเก็บสินค้า การถ่ายโอนข้อมูลในคลังสินค้า การเลือกสถานที่ตั้ง เช่น โรงงาน คลังสินค้า ซึ่งจะแปรผันไปตามชนิดและปริมาณของสินค้า
            3) ต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง (Inventory Carrying  Cost)  ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง ซึ่งจะผันแปรไปกับปริมาณของสินค้าคงคลังและทำให้เกิดต้นทุนด้านต่าง ๆ อีก เช่น ต้นทุนเงินทุน (Capital  Cost) และต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity  Cost) ต้นทุนในการดูแลสินค้าได้แก่ ค่าประกันภัย และภาษี ต้นทุนพื้นที่การจัดเก็บสินค้า ได้แก่ ต้นทุนด้านสถานที่ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณของสินค้า ต้นทุนความเสี่ยงในการจัดเก็บสินค้า ได้แก่ ความล้าสมัย การลักขโมย
           4) ต้นทุนการบริหาร (Administration Cost) เกิดจากกิจกรรมหลัก 3 ประเภท คือ 
                  (1) ระดับการให้บริการ (Customer Service Level) เป็นเงินที่จ่ายไปเพื่อสนับสนุนการบริการลูกค้า เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำให้คำสั่งซื้อสมบูรณ์ 
                  (2) ต้นทุนกระบวนการสั่งซื้อและระบบสารสนเทศ (Order Processing and Information Costs) ได้แก่ ต้นทุน
    ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสั่งซื้อ การกระจายการติดต่อสื่อสาร และการพยากรณ์อุปสงค์
                  (3) ต้นทุนปริมาณ (Lot Quantity Cost) ซึ่งโดยหลักการแล้วจะขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่จัดซื้อจัดหาและผลิต


          ปี 2556 ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีมูลค่ารวม 1,835.2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาประจำปี (GDP at Current Prices) ซึ่งมีมูลค่า 12,910.0 พันล้านบาท โดยมีต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง ร้อยละ 39.0 คิดเป็น 715.2 พันล้านบาท และการบริหารจัดการ ร้อยละ 9.1 คิดเป็น 166.8 พันล้านบาท

    โครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทย ปี 2551 - 2556
    รูปภาพที่ 1 โครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทย ปี 2551 - 2556

            จะเห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมาต้นทุนการบริหารจัดการมีร้อยละ 9.1 เท่าเดิมมาโดยตลอด ซึ่งทำให้คาดการณ์ปีถัดไปว่าจะคงสัดส่วนเท่าเดิมต่อไป จากการประมาณการปี 2557 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ระบุว่าต้นทุนค่าขนส่งจะชะลอตัวลงเนื่องจากการลดการขนส่งทางถนน และต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังมีสัดส่วนเท่าเดิมเนื่องจากผู้ประกอบการมีระบบบริหารจัดการด้านสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ


            จากการเข้าศึกษาดูงานการวินิจฉัยต้นทุนของกิจกรรมทางโลจิสติกส์ ร่วมกับที่ปรึกษาของโครงการต่าง ๆ ภายใต้สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ บ่อยครั้งพบว่าต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้าคงคลังมักเกิดจากการพยากรณ์การจัดซื้อวัตถุดิบ (Forecast) ที่เกินความเป็นจริง (Actual) ไปมาก ซอฟต์แวร์ทางด้านตารางคำนวณ (Spreadsheet) จึงถูกนำมาใช้เพื่อการคำนวณประมาณการพยากรณ์ โดยองค์กรธุรกิจมักใช้ไมโครซอฟต์ออฟฟิศ เอ็กซ์เซล (Microsoft Office Excel) ในการทำงานทางด้านตัวเลขและการคำนวณ อาทิ ต้นทุนของสินค้า, จำนวนสินค้าในคลังสินค้า, การออกรายงานทั้งแบบตัวหนังสือและกราฟ เป็นต้น แต่การใช้งานซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟต์ย่อมตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ขององค์กรมักไม่ได้ใช้คุณสมบัติของซอฟต์แวร์เต็มประสิทธิภาพมากนัก โดยปัจจุบันได้มีซอฟต์แวร์ทดแทนเกิดขึ้นมากมายหลายยี่ห้อ ซึ่งมีทั้งที่เป็นฟรีแวร์และโอเพนซอร์ส หนึ่งในซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่นิยมสูงสุด คือ ลิเบียออฟฟิศ แคลค์ (LibreOffice Calc) ซึ่งสนับสนุนการติดตั้งและใช้งานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows), ลินุกซ์ (Linux), และแมคโอเอส (Mac OS) เพื่อการลดต้นทุนการบริหารจัดการงานเอกสารด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างยั่งยืน การใช้งานลิเบียออฟฟิศจึงเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าต่อการฝึกฝนใช้งาน พร้อมทั้งมีประสิทธิภาพไม่แพ้การใช้ไมโครซอฟต์ออฟฟิศ เมื่อเทียบคุณสมบัติต่อคุณสมบัติ



    รายการเปรียบเทียบการใช้งาน
    Microsoft Office Excel
    LibreOffice Calc
    การทำงานทั่วไปในสำนักงาน มี มี
    การคำนวณโดยใช้ฟังก์ชั่นใน Excel เช่น IF(), COUNTIF(), VLOOKUP() มี มี: รูปแบบเหมือน Excel ทุกประการ
    การสร้างกราฟเพื่อออกรายงาน มี มี
    การบันทึกเป็นไฟล์ PDF มี: เริ่มปรากฎให้เห็นในเวอร์ชั่น 2010 เป็นต้นไป สำหรับเวอร์ชั่น 2007 ต้องดาวน์โหลดเพิ่มเติม มี: สามารถส่งออกเป็น PDF ได้โดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมอะไรเพิ่มเติม

    ฟังก์ชั่นทางสถิติ มี มี
    Solver มี: แต่ต้องเปิดใช้งาน Add-In ก่อน มี
    Pivot Table มี มี
    ราคา
    (อ้างอิง: http://www.softwarelicense.in.th/)
    Office Home and Business 2013: 7,704 บาท/1เครื่อง
    Office pro 2013: 14,445 บาท/1 เครื่อง
    ฟรี/ไม่จำกัดจำนวนเครื่อง

    ตารางเปรียบเทียบการใช้งานระหว่าง Microsoft Office Excel และ LibreOffice Calc

    รูปภาพที่ 2 โปรแกรมลิเบียออฟฟิศ แคลค์ (LibreOffice Calc) บนระบบปฏิบัติการลินุกซ์

    แหล่งอ้างอิง
    [1] Logistics Corner (http://www.logisticscorner.com)
    [2] รายงานโลจิสติกส์ของประเทศไทยประจำปี 2557 (http://www.nesdb.go.th)

    ความคิดเห็น

    โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

    Python: How to create ASCII art

    SAP + Xamarin